วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560

ดาวเนปจูน (Neptune)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ดาวเนปจูน




ดาวเนปจูนเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่เป็นที่ ๔ ในระบบสุริยะ จุโลกได้ถึง ๖๐ ดวง ระยะห่างเฉลี่ย จากดวงอาทิตย์ ๔,๕๐๔ ล้านกิโลเมตร อยู่ไกลจากโลกมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เท่านั้น จึงจะเห็นเป็นจุดริบหรี่ได้ สิ่งที่มนุษย์รู้เกี่ยวกับดาวเนปจูน ในทุกวันนี้ จึงเป็นข้อมูลที่ได้มาจากยาน วอยเอเจอร์ ๒ ซึ่งโคจรสำรวจดาวเนปจูนระยะใกล้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒

ประวัติการค้นพบ
หลังจากค้นพบดาวยูเรนัส ใน พ.ศ. ๒๓๒๔ แล้ว นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ต้องมีดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ส่งแรงรบกวนวิถีโคจร ของดาวยูเรนัส จึงคำนวณหาตำแหน่งของดาวเคราะห์ดวงนั้นไว้ล่วงหน้า จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๓๘๙ จึงส่องกล้องโทรทรรศน์ ค้นพบดาวเนปจูนอยู่ใกล้เคียงกับตำแหน่งที่คำนวณไว้

ลักษณะสำคัญ
ดาวเนปจูนมีลักษณะคล้ายกับดาวยูเรนัสหลายอย่าง เช่น มองจากกล้องโทรทรรศน์เห็นเป็นดวงสีน้ำเงิน บรรยากาศหนาทึบ ประกอบด้วยก๊าซไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นส่วนใหญ่ มีก๊าซมีเทน และไฮโดรคาร์บอนอีกเล็กน้อย เนื่องจาก ก๊าซมีเทนในบรรยากาศชั้นบนดูดกลืนแสงสีแดงไว้ และสะท้อนแสงสีน้ำเงินออกมา จึงทำให้เรามองเห็นดาวเนปจูนมีสีน้ำเงิน คล้ายกับดาวยูเรนัส

ลักษณะเด่นของดาวเนปจูน คือ เป็นดาวเคราะห์แห่งพายุ สภาพอากาศแปรปรวน พบพายุหมุนขนาดใหญ่เท่าโลก ปรากฏเป็นจุดสีคล้ำเด่นชัด เรียกว่า จุดดำใหญ่ อยู่ทางซีกใต้ของดาวเนปจูน ลักษณะคล้ายกับจุดแดงใหญ่ บนดาวพฤหัสบดี นอกจากนั้นยังมีจุดดำขนาดเล็กปรากฏอยู่ทางซีกเหนือ ของดาวเนปจูน เกิดขึ้นและหายไปไม่อยู่คงที่ และกลุ่มเมฆสว่างหมุนวน มีขนาดและรูปร่างไม่คงที่ เคลื่อนที่ไปรอบดาวเนปจูนอีกด้วย สันนิษฐานว่า ลักษณะเหล่านี้เป็นพายุหมุน ที่เกิดจากอุณหภูมิ และความกดอากาศระหว่างชั้นบรรยากาศแตกต่างกัน ทำให้เกิดกระแสอากาศหมุนวน กระแสลมบนดาวเนปจูนแรงจัด วัดความเร็วได้ถึง ๒,๐๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง การสังเกตจุดดำบนตัวดวง ช่วยให้ทราบว่า ดาวเนปจูนหมุนรอบตัวเองครบรอบ ในเวลา ๑๘ ชั่วโมง


ดาวเนปจูนอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์เป็นระยะทาง ๓๐ เท่า ของระยะห่างระหว่างโลก กับดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์เคยคิดกันว่า ดาวเนปจูนคงได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์น้อยมาก จนไม่น่าจะมีฤดูกาลเกิดขึ้น แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล บันทึกภาพดาวเนปจูนต่อเนื่องนาน ๖ ปี สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ในบรรยากาศระหว่างซีกเหนือกับซีกใต้ ของดาวเนปจูน ได้อย่างชัดเจน




อ้างอิง http://kanchanapisek.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น